รัฐศาสตร์ สอนอะไร (สอบตรง)
ศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เขียนข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ตอนหนึ่งเกี่ยวกับการเรียนวิชารัฐศาสตร์ ว่า
ห้องเรียนรัฐศาสตร์ไม่ได้สอนวิชาชีพ ถ้างั้นเราเรียนวิชาชีพทำมาหากินจากไหนอย่างไร? แล้วรัฐศาสตร์สอนอะไรในห้องเรียน?
ผมนึกถึงประสบการณ์ส่วนตัว อย่าง skills ที่ผมใช้ทำมาหากินทุกวันนี้นั้น ลองนึกดู เช่น ความรู้ภาษาอังกฤษ (เป็นหลัก ฝรั่งเศสเป็นรอง จีนเป็นปลีกย่อยเล็ก ๆ ซึ่งสองอันหลังนี้เรียนในห้องเรียนเป็นหลักอยู่) ความสามารถในการเขียนร้อยแก้วร้อยกรองภาษาไทย ทักษะการพูดบรรยาย ทักษะการแปล ความละเอียดในการทำงาน ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ได้มาจากการเรียนเป็นหลัก แต่มาจากการอ่านเอง ฟังเอง หัดแต่งเอง ฟังข่าววิทยุภาษาอังกฤษสี่ปีกว่าในป่า หัดแปลสดเขียนลงสมุดโน๊ตย่อทันทีที่ฟัง พูดไฮด์ปาร์คสมัยเป็นนักกิจกรรมนักศึกษา บรรยายให้สหายชาวนาฟังในป่า ทำหนังสือ (พิมพ์ต้นฉบับจากลายมือสหาย, จัดหน้า, พิมพ์ไข, ตรวจปรู๊ฟ, โรเนียวกระดาษไขด้วยมือทีละแผ่น) เขียนคอลัมน์บทความแถลงการณ์ในเมืองและในป่าและในหน้านสพ. ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ไม่ได้สอนและไม่ได้เรียนในห้องเรียน แต่หัดเองฝึกเอง ไม่มีห้องเรียนที่ไหนสอน ของพวกนี้แหละครับที่ผมใช้ทำงานเขียน สอน อ่าน พูด แปล แต่งทุกเมื่อเชื่อวัน
บางอย่างก็ไม่ใช่ skills แต่เป็น work ethic และความเคยชิน ความละเอียดนั้นไม่มีเทวดา พ่อแม่ หรือครูบันดาลให้ได้ ท่านเหล่านั้นบอกสอนได้ แต่คุณจะได้จริงคุณต้องหัดทำกับมือ ดัดใจ ดัดนิสัยตัวเองจากความจำเป็นของการทำงาน ผิดแล้วผิดอีก จนค่อย ๆ ดีขึ้น ถูกขึ้น และ คุ้นชินกับการทำงานละเอียดแบบนั้น ได้เป็นนิสัยติดตัวมา ไม่ทำงานละเอียดแล้วรู้สึกผิด ไม่สบายใจ อันนี้ไม่ได้สอนในห้องเช่นกัน
แต่เราได้อะไรในห้องเรียนล่ะ? ผมคิดว่าได้สองสามอย่าง แผนที่(ความรู้) เข็มทิศ(การเดินทางหาความรู้) และแบบอย่างกระบวนท่าทางสติปัญญาในการทำงานเกี่ยวกับความรู้ของครูบาอาจารย์แต่ละคน (ทั้งบวกและลบ) ในห้องเรียน วิชาที่ดีจะกางแผนที่บอกให้รู้ว่าพื้นภูมิความรู้ในวิชาหนึ่งเรื่องหนึ่ง ๆ เป็นอย่างไรบ้าง ถ้าคุณจะเดินหาความรู้ไป ในวิชาหนึ่ง เดินได้ไม่หมดหรอก อย่างมากก็ได้แค่ขี่ม้าชมดอกไม้บางจุดบางส่วน แต่พอมีแผนที่แล้ว ที่เหลือคุณไปเดินดูค้นคว้าเองต่อได้ภายภาคหน้า
นอกจากนั้นก็ใช้เข็มทิศ ว่าจากประสบการณ์ของผู้สอนและคนอื่นที่เดินสำรวจหาความรู้ตามแผนที่นั้นมา ทิศไหนควรไป ทิศไหนอย่าไปเลยเดี๋ยวหลง ทิศไหนน่าสนใจ แต่ผมก็ไม่เคยไปนะ แต่ถ้าสนใจเรื่องนี้ ควรลองไปดู ฯลฯ
สุดท้ายคือแบบอย่างกระบวนท่าหาความรู้ วิเคราะห์ความรู้และถ่ายทอดความรู้ของครูแต่ละคน ซึ่งเราเรียนได้ (เลียนได้) ทั้งบวกและลบ เอามาประกอบกันของคนต่าง ๆ หลาย ๆ คน
สรุปคือห้องเรียนคือที่สอนกระบวนการหัดหาความรู้ในเรื่องหนึ่ง ๆ ด้วยตัวเองต่อไปแก่นักศึกษา (สอนจับปลา) ไม่ได้ป้อนเนื้อปลากระป๋องเป็นคำ ๆ ให้ ถ้าผู้เรียนได้ทักษะนั้นไปก็จะหาจับปลาได้เองชั่วชีวิต ส่วนการเรียนวิชาชีพ อาชีวะ ฯลฯ นั้น ในความเห็นผม ก็อย่างที่ต่อศักดิ์เล่า อาจไม่ใช่สิ่งที่คุณจะเรียนในชั้นเรียนรัฐศาสตร์ มีบ้าง แต่ไม่ใช่ด้านหลัก ยกเว้นบางวิชาซึ่งเกี่ยวข้องกับทางวิชาชีพโดยตรง เช่น วิชาเชิงบริหารรัฐกิจบางวิชา วิชาการทูตบางวิชา ที่เหลือส่วนใหญ่ไม่ใช่
0 ความคิดเห็น: